ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

การร่วมมือระหว่างพหุภาคี ในการขับเคลื่อนปัณหาฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดขอนแก่น

ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 14.30น-16.00น. ที่ผ่านมา คุณเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า คุณกฤตภาส      ปรุงศรีปัญญา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น  รศ.ดร.พรพรรณ  สกุลคู  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณธนาวุช โนราช สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ขอนแก่น  ตัวแทน สำนักงานป้องกันสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น (ปภ.) ผอ.สุภาวีร์ คะลา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น เป็นตัวแทนภาคีเครือข่าย ได้เข้าพบ ดร. สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในการมอบข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะประเด็น “ขอนแก่นอากาศสะอาดอย่างยั่งยืน” และหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 ร่วมกัน

 

ภาพ ข่าวโดย / รศ.ดร.พรพรรณ  สกุลคู

ศึกษาดูงานการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T ณ เทศบาลตำบลชัยวารี อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 11 ก.พ. 2565 คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ได้นำนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 จำนวน 25 คน  ศึกษาดูงานการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T ณ เทศบาลตำบลชัยวารี อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการสิ่งปฏิกูล และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนระดับประเทศ ประจําปี 2563 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  โดยเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนรายวิชา “การควบคุมระบบบำบัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล” และโครงการวิจัย “การพัฒนาตัวแบบการบริหารจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของชุมชนตามขนาดและบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ในการศึกษาดูงานได้รับการต้อนรับจากคณะผู้บริหารของเทศบาล นำโดยนายคำดี ธะนาสินธ์ รองนายกเทศมนตรี และนายพัฒพงษ์ กำหอม รองปลัดเทศบาล จากนั้น รับฟังการบรรยาย แลกเปลี่ยน หัวข้อ “การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล” จาก นายพีระพงษ์  แดนประกรณ์  ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ รุ่นที่ 19 และ หัวข้อ “ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์กับงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จาก จ่าเอก คมกริช สังวิเศษ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ และ อาจารย์ ดร.มนตรี  พิมพ์ใจ ผู้ร่วมทีมวิจัยของโครงการ ในช่วงเช้า และ ฝึกปฏิบัติการแยกองค์ประกอบของขยะ ในช่วงบ่าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning) ของรายวิชา

 

ภาพ ข่าวโดย/ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ

พิธีลงนามความร่วมมือการผลิตสมุนไพร

วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือการผลิตสมุนไพร ระหว่าง สถานวิจัยและบริการการแพทย์แผนไทย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพื้นที่สุขภาพเขต 7 และบริษัทธนนวัฒน์ จำกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นได้มีการมอบของที่ระลึกและถ่ายภาพกัน ณ ห้องประชุมตักศิลา ชัน 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์

 

 

ภาพ ข่าวโดย : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร /  นางสาวขวัญหทัย สินเธาว์

พิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยมหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Herb Fair 2021

เย็นวันพฤหัสบดี ที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์  คณบดี, ผศ.เนาวรัตน์ มณีนิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ, และ ผศ.ดร.ชนัญญา จิระพรกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการจัดแสดงผลงานการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย KKU Herb Fair 2021 โดยกองบริหารงานวิจัย มข.ณ คุ้มสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ ผลงานที่จัดแสดงยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการ สามารถนำไปต่อยอดได้อีกด้วย

ภาพ ข่าวโดย/ นางสาวขวัญหทัย สินเธาว์  / นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร

บรรยายพิเศษการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดบรรยายพิเศษ การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร โดยมีวิทยากร คือ Asst. Prof. Dr. Roshan Kumar Mahato จาก Kathmandu University School of Medical Sciences ประเทศเนปาล บรรยายในหัวข้อ What makes good writing? Are there good writers? and bad writers” การบรรยายดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สนใจการเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการ ได้เรียนรู้การเริ่มต้นเขียนบทความวิชาการ และเข้าใจขั้นตอน วิธีการเขียน และการใช้คำศัพท์ คำเชื่อมต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนัญญา จิระพรกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา        เป็นประธานเปิดการบรรยาย มีคณาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเข้าร่วมผ่านระบบ Zoom Meeting เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

 

ภาพ ข่าวโดย/ นางสาวผุสดี  ไกยวงษ์/ นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

 

โครงการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ท้องถิ่นในการแก้ปัญหายูโทฟิเคชั่นระยะยาว (ต่อเนื่อง)

วันที่ 1 กันยายน 64 ต่อเนื่องจากโครงการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ท้องถิ่นในการแก้ปัญหายูโทฟิเคชั่นระยะยาว ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ อาจารย์ฤทธิรงค์ จังโกฎิ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ ได้รายงานผลการดำเนินงาน สืบเนื่องจากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยได้รายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตัวอย่างดินตะกอน (Sequencing P Extraction) และเสนอแนวทางการจัดการปัญหายูโทฟิเคชั่น ระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้เข้าร่วมการรับฟังได้แก่ทีมงานจากเทศบาลตำบลบ้านเป็ดและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10

 ภาพ / ข่าวโดย :  ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์