ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

คณะสาธารสุขศาสตร์ ต้อนรับนักศึกษาจาก University of Michigan

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้อนรับคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 คน ซึ่งเดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อสาธารณสุขชุมชน ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ เป็นผู้จัดการเรียนการสอน นักศึกษาคณะดังกล่าวเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรีจากหลากหลายคณะวิชา โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นโครงการ Council on International Educational Exchange (CIEE)

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงศ์

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ต้อนรับอาคันตุกะจากประเทศเมียนมาร์

      เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้อนรับคณะอาคันตุกะจากประเทศเมียนมาร์ จำนวน 5 คน โดยการนำของ Dr. Nyunt Naing Thein ณ ห้องรับรอง 2 ชั้น 2 อาคารอรุณ จิรวัฒน์กุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งนี้ได้หารือการจัดหลักสูตรอบรมให้แก่บุคลากรชาวเมียนมาร์และการพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ ทั้งนี้ได้เชิญผู้บริหารของวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ ซึ่งมีแผนการเปิดหลักสูตรนานาชาติ เข้าร่วมหารือด้วย

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์

 

คณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ ออกให้บริการวิชาการแก่บุคลากรกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย คณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับเชิญจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การเขียนรายงานการวิจัยการทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อการตีพิมพ์ (Manuscript preparation for a systematic review)” และ “การใช้โปรแกรมในการช่วยจัดการ reference” ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 1-2 เมษายน 2562 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

มข. ผนึกกำลัง ภาครัฐ เอกชน สู้ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทางออกและแนวทางการจัดการ” สร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ การจัดการ และแนวทางการป้องกัน

      เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทางออกและแนวทางการจัดการ” ณ ห้องประชุมตักศิลา ชั้น 1 อาคารอรุณ จิรวัฒกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น เป็นวิทยากรให้ความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการฝุ่น PM 2.5  ซึ่งในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายธีรศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การวางมาตรการบังคับใช้ การชดเชยและจูงใจ การใช้เครื่องจักรในเกษตรแทนการเผา รวมถึงการทบทวนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งได้กล่าวว่า “การวางมาตรการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพใช่เพียงแต่จะห้ามอย่างเดียว แต่จะต้องให้ด้วย เช่น ให้ทางเลือก รวมถึงการให้การสนับสนุนด้วย”

      ข้อมูลฝุ่นในจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน และการเผาเพื่อเตรียมดินในการทำการเกษตร ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ว่า ”ในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่นสามารถใช้มาตรการควบคุมการเผาได้ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศ และทิศทางลมจึงทำให้ขอนแก่นมีค่าสภาพอากาศที่สูงอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากนอกเขตเทศบาลและจังหวัดใกล้เคียงมีการเผาอยู่”

      ทั้งนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการทำงาน และ ด้านอายุรกรรมและโรคปอด คือ อาจารย์ นพ.ปิติ จันทร์เมฆา จากโรงพยาบาลขอนแก่น และ รองศาสตราจารย์ นพ.อนัฆพงษ์ พันธุ์มณี จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 และโรคที่เกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสฝุ่น ทั้งนี้ยังได้เสนอแนะเรื่องการใช้หน้ากากอนามัย การปฏิบัติตัวเมื่อค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเผา การใช้สื่อที่เหมาะสม และเข้าใจง่ายจะทำให้ประชาชนตระหนักรู้และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เอง เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้ร่วมให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมเสวนาเกี่ยวกับเครื่องมือในการวัดค่าฝุ่น รวมถึงค่ามาตรฐานต่างๆ ของแต่ละประเทศด้วย

      นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวเสริมว่า “การแก้ปัญหาฝุ่นแต่ละพื้นที่นั้น จะต้องวางมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน การมีเครื่องมือในการวัดค่าฝุ่นที่เพียงพอ และการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในชุมชน จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”     

      “ตอนนี้ทุกคนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักแล้วว่าทุกคนล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา การดำเนินการในขั้นต่อไปคือการหาทางออกร่วมกัน โดยเน้นไปที่การให้ความรู้ และเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจและเข้าถึง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวในตอนท้ายการเสวนา

      การเสวนาที่จัดขึ้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากนักศึกษา คณาจารย์ จากหลายคณะวิชา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งในจังหวัดขอนแก่นและต่างจังหวัด รวมถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 138 คนเข้าร่วมฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง 

ภาพบรรยากาศในงาน

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์, ภาพ : เอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ นำทีมลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ต่อเนื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านฟื้นฟูและแก้ไขปัญหายูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด

วันที่ 20 มีนาคม 2562 นำโดย ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลงพื้นที่ทดลองครั้งที่ 2 ต่อเนื่องโครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศ ในงานวิจัย ด้านฟื้นฟูและแก้ไขปัญหายูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด โดยการใส่สารส้มเพื่อลดปริมาณฟอสฟอรัสในดิน ณ สวนสาธารณบึงกี ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ข่าวโดย : ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์, รายงานข่าวโดย : นายศรศกดิ์  อุระ

 

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม ออกบริการวิชาการรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “GRADE approach for Guideline development”

      รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “GRADE approach for Guideline development” ในการอบรม “การใช้เครื่องมือการประเมินคุณภาพแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการวิจัยและการประเมินผล (AGREE II)” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 7-8 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือประเมินคุณภาพแนวทางปฏิบัติสำหรับการวิจัยและการประเมินผล

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย