ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

คณะสาธารณสุข มข.ฟิต รณรงค์ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู  อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอยู่ในขณะนี้ ในจังหวัดขอนแก่นมีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสีส้มมาหลายวันและบางวันมีสีแดงเข้มในช่วงเย็นซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ทางสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และได้เชิญชวนประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้อาจารย์และนักศึกษาในคณะใส่หน้ากากอนามัยที่หาซื้อได้ง่ายใส่เพื่อเป็นการกรองอากาศระดับหนึ่งโดยเฉพาะฝุ่นพิษ และหากจะดีไปกว่านั้นให้ใช้ทิชชู่อีก 1 แผ่นวางรองบริเวณหน้ากากก็จะสามารถป้องกันฝุ่นได้ดีขึ้น แม้จะไม่ได้มีประสิทธิภาพดีเหมือนหน้ากาก N95 ซึ่งหาซื้อค่อนข้างยากและราคาแพงแต่อย่างน้อยการใส่หน้ากากอนามัยก็เป็นจะเริ่มต้นในการป้องกันตัวเองได้

“เบื้องต้นได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ใส่หน้ากากอนามัยในกลุ่มของสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งอาจารย์และนักศึกษา และมีการถ่ายภาพประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใส่ด้วย ซึ่งหากเราไม่เริ่มต้นก็ไม่รู้จะไปบอกกล่าวคนอื่นได้อย่างไร เพราะสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องอาชีวอนามัยอยู่แล้วหากเราไม่ตื่นตัวและเริ่มป้องกันตัวก่อน คนอื่นก็อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เลยก็ได้” รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู กล่าว

เนื้อหาข่าวจาก : komchadluek.net
ข่าว/ภาพ สุมาลี สุวรรณกร

 

อาจารย์สาธารณสุข มข. ทำคู่มือความรู้ PM 2.5 หวังให้ทุกคนตระหนักรู้พิษ "ฝุ่นจิ๋ว"

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ร่วมกับทีมอาจารย์จากอีกหลายคณะศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง และได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการออกสู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ประกอบด้วยตนเองพร้อมกับ ผศ.ดร.ชนัญญา จิระพรกุล และ อ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล ได้จัดทำหนังสือคู่มือเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ความรู้กับผู้สนใจ โดยทำออกมาเป็น 3 เวอร์ชั่นคือ สำหรับเด็กซึ่งจะมีภาพวาดการ์ตูน เป็นป๊อบอัพ สีสันสดใส ฉบับสำหรับผู้สูงอายุซึ่งจะมีลักษณะพิเศษคือตัวหนังสือใหญ่ อ่านง่ายสบายตา และสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีข้อมูลเนื้อหาที่น่าสนใจครบถ้วนตีพิมพ์ด้วยสีสันสวยงามเผยแพร่

โดยหนังสือชุดความรู้ทั้ง 3 ฉบับนี้ได้จดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่สามารถเลียนแบบหรือทำเพื่อการค้าได้ แต่หากต้องการเผยแพร่เป็นข้อมูลความรู้สามารถดำเนินการได้ โดยมุ่งหวังให้ความรู้แก่ประชาชนคนทั่วไปเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หรือฝุ่นจิ๋วซึ่งเป็นพิษภัยต่อสุขภาพร่างกายมาก เนื่องจากเป็นฝุ่นพิษที่มาพร้อมกับฤดูหนาวซึ่งในภาคอีสานและเหนือสาเหตุหลักจะมาจากการเผาไหม้ ทั้งเผาอ้อย เผาตอซังข้าว เผาใบไม้ เผาขยะ แต่หากเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯจะมีสาเหตุจากควันรถ ฝุ่นการก่อสร้าง

หลังจากได้ร่วมกันกับอาจารย์หลายคณะทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่องพบว่าเดือนที่มีปัญหามากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พออากาศปิดสภาพเมืองเหมือนกับเอาฝาชีมาครอบไว้ ก็จะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายและอยู่ในอากาศมาก ประชาชนหายใจเข้าไปก็จะสูดดมเอาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปด้วยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแม้มีแอพพิเคชั่นตรวจสภาพอากาศและรายงานสภาพอากาศแต่ประชาชนยังรู้ข้อมูลน้อย บางวันที่แอพพิเคชั่นบอกว่าสภาพอากาศเป็นสีส้มต้องระวังตัวแต่ยังมีการออกมากลางแจ้งอยู่ อย่างครูยังพาเด็กเล็กออกกำลังกายกลางแจ้งซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ในหนังสือคู่มือทั้ง 3 เล่มก็จะบอกถึงสาเหตุ ปัญหาและวิธีการแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ประชาชนป้องกันตัวและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพของเรา เราต้องสนใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ครูอาจารย์ต้องตระหนักเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพให้บุตรหลานและอยากจะให้มีมาตรการจริงจังในการป้องกันการเผาเพื่อไม่ให้เกิดพีเอ็ม 2.5 รุนแรงไปกว่านี้รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ชนัญญา สาขาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะทำงานเปิดเผยว่า สำหรับหนังสือคู่มือให้ความรู้ดังกล่าวยินดีเผยแพร่ให้กับผู้สนใจ โดยก่อนหน้านี้ได้ออกไปให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ระดับอนุบาล) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะเป็นอันตรายทั้งกับเด็กเล็กและกับผู้ใหญ่ด้วย หากวันที่อากาศปิดไม่ควรพาเด็กเล็กมาออกกำลังกายกลางแจ้งเพราะจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ และยิ่งช่วงเย็นมีการเผาไหม้ในปริมาณมาก หากมาออกกำลังกายกลางแจ้งอาจจะเกิดอาการสโตรกหรือหัวใจหยุดเต้นได้

เนื้อหาข่าวจาก : komchadluek.net
ภาพ/ข่าว พรพรรณ เพ็ชรแสน
ภาพ/ข่าวจิติมา จันพรม นักข่าวภูมิภาค จ.ขอนแก่น

 

อาคันตุกะจากประเทศญี่ปุ่นเยือนคณะสาธารณสุขศาสตร์

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 Professor Shinji Nakahara จาก School of Innovation Health, Kanagawa University of Human Services ประเทศญี่ปุ่น เดินทางเข้าพบคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ หารือการทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับขี่มอเตอร์ไซด์ รวมถึงได้เข้าศึกษาดูงานการให้บริการรถ Shuttle Bus ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย

ภาพ/ข่าว โดย : ผุสดี ไกยวงษ์

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศได้แก่ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอัฟกานิสถาน บังคลาเทศ เนปาล ติมอร์ เลสเต ญี่ปุ่น และปาปัวนิวกินี ได้เดินทางมาเข้าพบคารวะ และหารือความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารอรุณ จิรวัฒน์กุล คณะสาธารณสุขศาสตร์

ภาพ/ข่าว โดย : น.ส.ผุสดี ไกยวงษ์

 

เตือนภัยฝุ่น PM2.5 ทีมอาจารย์ PM2.5 มข. ผลึกกำลังร่วมมือกับคณาจารย์โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น(ฝ่ายอนุบาล) แนะแนวทางป้องกัน

วันพฤหัสที่ 12 ธันวาคม พ.ศ 2562 เวลา 14.00-15.30 น. ณ ห้องประชุม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายอนุบาล)  โดยได้ร่วมหารือกับตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนสาธิตฯ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะศึกษาศาสตร์และ อาจารย์อินทร์ตรอง นิตยโรจน์ ผช.ผอ.ฝ่ายพัฒนานักเรียน และ องค์กรสัมพันธ์ ในการเตือนภัยฝุ่น PM2.5 ให้ความรู้และการป้องกัน รวมถึงการ Workshop เข้าถึง Application Air4Thai ในการเฝ้าระวัง ดูค่าความเข้มข้นของ PM2.5 และค่า AQI 

           ในการนี้ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ ทีมวิจัย PM2.5 ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทยศาสตร์, รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู คณะสาธารณสุขศาสตร์, อ.ดร.ชัชวาล อัยยาธิติ คณะวิศวกรรมศาสตร์, อ.นพ.อภิชาติ โซ่เงิน คณะแพทยศาสตร์ และ ทีม CKDnet  ร่วมให้ความรู้และหารือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดขอนแก่น รวมถึงทางออก/การป้องกัน ดูแลนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอนุบาล ให้ปลอดภัยจากฝุ่นที่รุนแรงช่วงหนาวนี้ ในการนี้มีคณาจารย์และผู้นำผู้ปกครองของนักเรียนเข้าฟังมากกว่า 40 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมให้ความสนใจ สอบถาม และหามาตรการร่วมกัน ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเยี่ยมและโรงเรียนสาธิตเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบที่ดีในการเฝ้าระวัง PM2.5 อีกด้วย

ข่าวโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู
รายงายข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ

 

 

หน่วยวิจัยบริการวิชาการ งานยุทธศาสตร์ นำนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานภาคสนามร่วมกับชุมชนเสริมการเรียนการสอนแบบบูรณาการร่วมกับงานบริการวิชาการและวิจัย

วันที่ 27 พ.ย. 2562 หน่วยวิจัยบริการวิชาการ งานยุทธศาสตร์ โดย ดร.รัฐพล ไกรกลาง ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฎิ นางกรุณา โสฬสจินดา นางอรวรรณ ดีสุรกุล และคณะกรรมการฯ นำนักศึกษาจัดกิจกรรมโครงการแก้ปัญหาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ณ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกิจกรรมการบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับบริการวิชาการ วิจัย วัตถุประสงค์เพื่อให้ค้นหาปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพการทำงานเป็นทีม การวิเคราะห์ชุมชนการวางแผนและแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ 5 ฐานคือฐานการเรียนรู้ฟันสวย เล็บใส ใส่ใจสุขภาพ ฐานการเรียนรู้วัยรุ่นรู้เยอะไม่ติดโรค ฐานการเรียนรู้ก้มๆ เงยๆ เปลี่ยนวิถีที่เคยให้เหมาะสม ฐานการเรียนรู้เสริมสร้างคุณภาพชีวิตพิชิตความดันโลหิตสูง และฐานการเรียนรู้โครงการการป้องกันอันตรายจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ผู้บริหารอำเภอภูเวียง ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และ นายอำเภอ ประจักษ์ ไชยกิจ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน สาธารณสุขอำเภอภูเวียง นายไพฑูรย์ มั่นงคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู นายสุรินทร์ หล้าแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองพลวง นางจุไรรัตน์ สาวิกันย์ กำนันตำบลทุ่งชมพู นายสุรเดช เขียวหนูร่วมเปิดกิจกรรมและกล่าวต้อนรับนักศึกษา คณาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งนำทีมโดย รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร
ผศ.ชัชวาล กีรติวรสกุลในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยมีชาวบ้าน ผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา ผู้นำชุมชน และ อสม. ร่วมกิจกรรมมากกว่า 250 คน

ข่าวโดย : นางกรุณา โสฬสจินดา

รายงานข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ