ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง พร้อมคณาจารย์ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และเครือข่ายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยระดับชาติ

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ผู้แทนคณะสาธารณสุขศาสตร์ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และเครือข่ายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยระดับชาติ
     นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง รองศาสตราจารย์ วิภารัตน์ โพธิ์ขี และอาจารย์ ดร.วรวรรณ ภูชาดา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และเครือข่ายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยระดับชาติ โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) ณ ห้องแมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
     ซึ่งจัดการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพัฒนางานวิชาการ การกำหนดยุทธศาสตร์ และ Roadmap ด้านความปลอดภัยในการทำงานของประเทศไทย ด้วยการระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาจารย์ นักวิชาการ จากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านอาชีวอนามัย และผู้แทนจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน

รศ.ดร. สุนิสา ชายเกลี้ยง ได้รับเชิญเพื่อเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ"ความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี และการตอบโต้กรณีเหตุฉุกเฉิน"

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
     รศ. ดร. สุนิสา ชายเกลี้ยง หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยและประธานหลักสูตรปริญญาโท วท.ม. สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเชิญจากโรงพยาบาลชัยภูมิ เพื่อเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ"ความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี และการตอบโต้กรณีเหตุฉุกเฉิน"
     โดยอบรมภาคทฤษฎีและเชิงปฏิบัติการ ด้านการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานกับสารเคมีให้ปลอดภัย พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ให้กับบุคลากรโรงพยาบาลชัยภูมิ และผู้รับผิดชอบงานอาชีวอนามัยจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชน ภายในจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งสิ้น จำนวน 100 คน

 

นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ระดับนานาชาติ APOSHO 2024

     อาจารย์.ดร.วรวรรณ ภูชาดา ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร วท.บ.อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (โครงการพิเศษ) นำนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ APOSHO (Asia Pacific Occupational Safety & Health Organization) ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม รอยัล ริเวอร์ โฮเทล ภายใต้ธีมงาน "Towards the sustainability on Safety, Health and Well Being" 
 
     ในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ อาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลงานวิจัยทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งในรูปแบบ oral และ poster โดยนักศึกษาคว้ารางวัล 2 รางวัล ดังนี้

 

Advanced and Innovative Poster Presentation Award 
ชื่อผลงาน: Smart Application for Safety Observation Index 
เจ้าของผลงาน: นางสาวฐิตาพร มะตาด 
นักศึกษาหลักสูตร วท.บ.อนามัยสิ่งแวดล้อม
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
Popularly Voted Poster Presentation Award
ชื่อผลงาน:  The mobile application of FERA ergonomics program for Musculoskeletal Disorders risk assessment in Para rubber tappers
เจ้าของผลงาน: นางสาวสุรีรัตน์ บุญกอบแก้ว 
นักศึกษาหลักสูตร หลักสูตรวท.ม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ APOSHO ครั้งที่ 38

     คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ APOSHO (Asia Pacific Occupational Safety & Health Organization) ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม รอยัล ริเวอร์ โฮเทล ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นองค์กรร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ให้เกียรติไปร่วมพิธีเปิดงาน แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
     การประชุมปีนี้จัดภายใต้ธีมงาน "Towards the sustainability on Safety, Health and Well Being" เป็นการขับเคลื่อน เผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยในระดับนานาชาติ เพื่อให้พนักงานมีความปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีความสุขในการทำงาน ภายในงานนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง หัวหน้าสาขาวิชาสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษบรรยาย (Keynote speaker) และ Modulator ช่วงสรุป sum up-panel discussion
 
     นอกจากนี้ APOSHO ได้จัด exhibition สำหรับให้หน่วยงานนำเสนอองค์กรทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ซึ่งได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างดี

คณะสาธารณสุขศาสตร์ เดินทางไปแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ ภาษา และศิลปวัฒนธรรม ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น

     คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นำนักศึกษาระดับปริญญาตรี เดินทางไปแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ ภาษา และศิลปวัฒนธรรม ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2567 เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างประเทศ ให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมต่างชาติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก The FIT-KIT Memorial Award โดย Professor Masayuki Hayashi และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
     บุคลากรและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ นำโดย อ.ดร. รจิตรา นววงศ์อนันต์ และนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 และ 4 รวมจำนวน 6 คน จากสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสาขาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก Dr. Yatsuda Riichiro ผู้อำนวยการโรงพยาบาล Yatsuda, Prof. Masayuki Hayashi, Dr. Yanagihara Eri, Dr. Matsumoto Koichi, Dr. Fukushiyama Maki, Dr. Fujii Masashi และ Kohara Ayami ซึ่งคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยนได้เข้าศึกษาดูงานระบบการจัดการของโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเมืองคุมาโมโตะ และเมืองโคอุสะ นอกจากนี้ คุณ Sadohara Michito ได้นำคณะนักศึกษาเข้าชมพิพิธภัณฑ์มินามาตะ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของโรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากสารปรอทปนเปื้อนในอ่าวมินามาตะ ทั้งนี้ คณะนักศึกษายังได้รับความเอื้อเฟื้อจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในการอำนวยความสะดวกและพาเข้าชมทุกจุดของศูนย์และให้ข้อมูลอย่างละเอียด อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างยิ่ง
 
     ในโอกาสนี้ คณะนักศึกษาได้ร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “Elderly Care in Thailand and Pollution in Thailand: Current Situation and Future Outlook” ณ โรงพยาบาล Yatsuda เมือง Kumamoto โดยมี Dr. Yatsuda Riichiro ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และแพทย์และบุคลากรประจำโรงพยาบาลร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าว
 
     มากไปกว่านั้น คณะนักศึกษายังได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมการชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น และสวมใส่ชุดยูกาตะ ซึ่งเป็นชุดประจำชาติญี่ปุ่น โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก Dr. Yanagihara Eri ในการจัดเตรียมชุดและอุปกรณ์สำหรับพิธีดื่มชาของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ คณะนักศึกษายังมีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายแห่งในเมืองคุมาโมโตะ เช่น ปราสาทคุมาโมโตะและจุดชมวิวบนเทือกเขาอะโสะ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและรับมือกับวิกฤติการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการเสริมสร้างทักษะการบริการวิชาการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หัวข้อ “การอบรมและเสวนาเตรียมความพร้อมการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย”

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
     คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการเสริมสร้างทักษะการบริการวิชาการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หัวข้อ “การอบรมและเสวนาเตรียมความพร้อมการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย” ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และรูปแบบออนไซต์ สำหรับนักศึกษา ศิษย์เก่า ผู้ที่สนใจ คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่บุคลากร
 
     โดยได้รับเกียรติจาก "รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง" หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ โดยมีผศ.ดร.ชนัญญา จิระพรกุล, ผศ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และในช่วงบ่ายศาสตราจารย์ ดร. วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้กล่าวทักทายผู้ร่วมอบรม
 
     โดย "รศ.วิชัย พฤกษ์ธาราธิกูล" นายกสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (สอป.), กรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ "รศ.ดร.ปวีณา มีประดิษฐ์" เลขาธิการสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้ความรู้ในครั้งนี้
 
     โครงการเสริมสร้างทักษะการบริการวิชาการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวทางสำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการประเมินการยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมและเสวนาในครั้งนี้กันอย่างล้นหลาม