ข่าวกิจกรรมด้านบริหารจัดการ

คณาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยยื่นหนังสือ “การคัดค้าน ข้อ 21 (3) ของการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ......”

เมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 16.00-16.30 น. คณาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม        อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้นำทีมคณาจารย์ จำนวนรวม 6 ท่าน คือ ผศ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ อาจารย์นัฐชานนท์  เขาราธ อาจารย์วรวรรณ ภูชาดา และอาจารย์กชกร  อึ่งชื่น เข้าพบและยื่นหนังสือ “การคัดค้าน ข้อ 21 (3) ของการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ......” ของสภาเครือข่ายสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Professional network of occupational health and safety: PNOHS) ต่อท่านพัฒนชาต ชุมทอง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น และทีมงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น  ได้มีโอกาสสื่อสารวัตถุประสงค์และแลกเปลี่ยนมุมมองงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยต่อแรงงานในสถานประกอบกิจการ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น 1 ใน 48 สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตทางด้าน    อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเป็นทีมงานในสภาเครือข่ายสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพ     อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Professional network of occupational health and safety: PNOHS) ได้เล็งเห็นผลกระทบของข้อ 21(3) ของ(ร่าง) กฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ซึ่งได้ระบุข้อ 21 (3) ไว้ว่า “ข้อ 21 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า  5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ” ซึ่งข้อ 21(3)จะส่งผลกระทบต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีเหตุผลชี้แจง ดังนี้

ประการที่ 1 การอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่กำหนดชี้ชัดถึงคุณภาพที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งความแตกต่างจากการผลิตบัณฑิตจากทางสถาบันการศึกษาที่ถูกกำกับและควบคุมคุณภาพของหลักสูตร โดยมีเกณฑ์กำหนดชัดเจนให้เรียนพื้นฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างน้อย 44 หน่วยกิต โดยมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบด้วยหมวดวิชาเฉพาะ กลุ่มวิชาบังคับพื้นฐานวิชาชีพ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 2) กลุ่มวิชาความปลอดภัย 3) กลุ่มวิชาวิศวกรรมทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเทคโนโลยีการควบคุมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 4) กลุ่มวิชากฎหมายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 5) กลุ่มวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และ 6) กลุ่มวิชาสนับสนุนวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ประการที่ 2 จากข้อมูลสามารถผลิตบัณฑิตทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้ประมาณปีละ 12,000 คน โดยสถาบันที่เปิดสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้ง 48 แห่ง ซึ่งมีคุณสมบัติสอดคล้องตามกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้นั้น พบว่า สามารถเข้ามาดูแลแรงงานในสถานประกอบกิจการให้ได้รับความปลอดภัยและสุขอนามัยได้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบกิจการ (เนื่องจากสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปทั่วประเทศมีเพียง 16,027 แห่ง) ดังนั้น หากมีการประกาศใช้ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21(3) ควรมีการพิจารณาข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราการผลิตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ เนื่องจากจะทำให้เกิดการผลิตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพที่มากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน

ประการที่ 3 การทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องดูแลด้านสุขภาพและอนามัยของแรงงานได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตระหนัก ประเมิน และควบคุมปัจจัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยจากอุบัติเหตุ และโรคจากการประกอบอาชีพ ดังนั้น จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยตรง และมีการเรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพ   หากกำหนดคุณสมบัติทั้งด้านวุฒิการศึกษาที่กว้างและประสบการณ์ไม่เฉพาะเจาะจงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ส่งผลให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) นั้นมีสมรรถนะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานด้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้โดยตรง และส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับการบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้นำไปพิจารณาผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวที่เกิดขึ้นต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย และเปิดโอกาสให้หาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด

 

     

 

นำเสนอข่าวโดย ผศ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล

ภาพโดย ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ และ อาจารย์วรวรรณ ภูชาดา

 

บุคลากรคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.นาฏนภา ปัดชาสุวรรณ์ และ ผศ.ดร.กวินทร์ ถิ่นคำรพ เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์"

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ขอแสดงความชื่นชมยินดี กับคณาจารย์ทั้ง 2 ท่าน โอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น 

"ผู้ช่วยศาสตราจารย์" (ผศ.ดร.นาฏนภา ปัดชาสุวรรณ์ และ ผศ.ดร.กวินทร์ ถิ่นคำรพ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวจาก : Facebook คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. / โพสต์โดย : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.

โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์บุคลากรคณะสาธารณสุขศาสตร์

เมื่อวันจันทร์ ที่ 21 มิถุนายน 2564 คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์บุคลากร ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์  เพื่อแสดงออกถึงความร่วมแรงร่วมใจ และเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี รศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นประธานในงาน ซึ่งภายในงานมีการมอบของที่ระลึกเพื่อแสดงความยินดีกับท่านคณบดีเนื่องในโอกาสได้รับการแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ และมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรสายผู้สอน เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป

ภาพ ข่าวโดย : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

 

 

คณะเทคโนโลยี เข้าศึกษาเยี่ยมชมระบบบริหารงานออนไลน์ของคณะ (Digital Faculty System)

วันพุธ ที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น. คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดี และทีมผู้บริหาร ได้ต้อนรับคณะเทคโนโลยี ซึ่งนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พลฤทธิ์ จุลมนต์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ด้านบุคคลและสื่อสารองค์กร พร้อมบุคลากร เข้าศึกษาเยี่ยมชมระบบบริหารงานออนไลน์ของคณะ (Digital Faculty System) มาใช้เพื่อปฏิบัติงาน โดยมีโปรแกรมเมอร์จากศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ 1. ระบบการลาแบบดิจิทัล 2. ระบบฐานข้อมูลงานวิจัย และ 3. ระบบการจัดการโครงการ ณ ห้องประชุมสมบัติ ชัยเพ็ชร ชั้น 2 อาคารอรุณ จิรวัฒน์กุล คณะสาธารณสุขศาสตร์     

 

ภาพ ข่าวโดย : นางสาวขวัญหทัย สินเธาว์ / นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกพลังร่วมกับสภาเครือข่ายสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ คัดค้านร่างกฎกระทรวงข้อ 21(3) เข้าพบเพื่อหารือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 รองศาสตราจารย์วิชัย พฤกษ์ธาราธิกูล คณาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นตัวแทนคณาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และวิชาเอกอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเกียรติร่วมกับสถาบันการศึกษาและสภาเครือข่ายฯวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จำนวน 10 ท่าน นำโดย รองศาสตราจารย์ วิทยา อยู่สุข เพื่อคัดค้านการแก้ไข ร่างกฎกระทรวงข้อ 21(3) คุณสมบัติของ จป.วิชาชีพที่จะมีการอบรมเพิ่มเติม (อ้างอิงกฎกระทรวงที่เคยคัดค้านข้อ 13(4)) ผลการพูดคุยประเด็นดังกล่าว ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยินดีรับไปพิจารณา

ในนามของศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบพระคุณและขอชื่นชมเป็นกำลังใจให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พณฯ ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่กรุณารับฟังประเด็นปัญหาและหาทางออกสำหรับร่างกฎกระทรวงข้อ 21(3) ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของ จป.วิชาชีพ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติและแรงงานไทยสืบไป และขอขอบคุณทีมงาน กสร. ทุกท่านที่คำนึงถึงประโยชน์แก่ประเทศชาติ และห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน

ภาพกิจกรรม

ภาพ / ข่าว : อาจารย์ กชกร  อึ่งชื่น 

โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์บุคลากร (ครั้งที่ 2)

เมื่อวันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 กองบริหารงานคณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์บุคลากร (ครั้งที่ 2) ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อเป็นการพบปะพูดคุยระหว่างผู้บริหารและบุคลากรภายในคณะฯ โดยมี รศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นประธานในงาน และ รศ.ดร.วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาคุณภาพ เป็นประธานจัดโครงการฯ จากนั้นเสริมด้วยการจัดอบรมการใช้งานระบบลาดิจิทัล เน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการปฏิบัติงาน นำโดย รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์ Damasac  และทีมโปรแกรมเมอร์ เป็นวิทยากรบรรยาย ทั้งนี้โดยมีบุคลากรคณะสาธารณสุขศาสตร์เข้าร่วมและให้ความสนใจเป็นอย่างดียิ่ง

ภาพกิจกรรม

ข่าวจาก : Facebook คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. / โพสต์โดย : Ekkarit Pathumporn