ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์และทีมคณาจารย์ บุคลากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ

     ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมคณาจารย์ บุคลากร พร้อมทั้งบุคลากรพื้นที่ต้นแบบอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ และจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือ HIA และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) และการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพ ในการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย

 

 

การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบโดยใช้ CHIA เป็นเครื่องมือ กรณีการบริหารจัดการขยะชุมชน พื้นที่ เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด กรณีการบริหารจัดการขยะชุมชน พื้นที่ เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด จังหวัดนครราชสีมา

การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบโดยใช้ CHIA เป็นเครื่องมือ

กรณีการบริหารจัดการขยะชุมชน พื้นที่ เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวดจังหวัดนครราชสีมา

   ผลการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบเทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด พบว่า มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด หน่วยงานรัฐในพื้นที่ ภาคเอกชน (ศูนย์รีไซเคิลวงษ์พาณิชย์/บริษัทรับกำจัดขยะ) บ้าน วัด โรงเรียน และประชาชนทุกคนได้เข้ามาร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นกลั่นกรอง ขั้นกำหนดขอบเขตการศึกษา ขั้นประเมินผลกระทบ ขั้นทบทวนร่างรายงานและขั้นผลักดันข้อเสนอสู่การตัดสินใจใน โครงการถนนปลอดถังขยะ โดยใช้กระบวนการประเมินผลกระทบแบบเร่งด่วน พบว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ จากข้อมูลที่ได้มีความคุ้มค่าในการดำเนินการ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะมูลฝอย นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มรายได้ จากการนำขยะมาแปรสภาพเพื่อจำหน่าย อีกทั้งยังมีความคุ้มค่าในมุมของประชาชน ซึ่งถนนปลอดถังขยะทำให้มีภูมิทัศน์ที่สะอาด สวยงาม รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเศรษฐกิจของชุมชน และถือเป็นการสร้างจิตสำนึกในการตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการคัดแยกขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน 

 

 

การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบโดยใช้ CHIA เป็นเครื่องมือ กรณีความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่เทศบาลตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

     ผลการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบ เทศบาลตำบลห้วยยาง พบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาร่วมได้แก่ ทต.ห้วยยาง ผู้นำชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กลุ่มอนุรักษ์/ชมรม เกษตรตำบล ศูนย์เรียนเกษตร สื่อมวลชน ตัวแทนประชาชน นักวิชาการด้านสังคมและสาธารณสุข และผู้ประกอบการในชุมชน เข้ามาร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นกลั่นกรอง ขั้นกำหนดขอบเขตการศึกษา ขั้นประเมินผลกระทบ ขั้นทบทวนร่างรายงานและขั้นผลักดันข้อเสนอสู่การตัดสินใจใน โครงการความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้กระบวนการประเมินผลกระทบแบบปานกลาง (Intermediate HIA) พบว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ จากข้อมูลที่ได้มีความคุ้มค่าในการดำเนินการ เพราะจะช่วยลดสารเคมีที่จะเข้ามาในห่วงโซ่อาหารและยังเป็นการสร้างกลไกเข้ามาร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และจัดระบบการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจัดทำแผนโครงการ กิจกรรมให้สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความคุ้มค่ากับงบประมาณ และเป็นคามคุ้มค่าในการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในพื้นที่ต่อพิษภัยสารเคมีที่มาจากกระบวน การผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเชื่อมโยงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในสร้างให้ทุกคนเข้าใจถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรในชุมชนเกี่ยวกับความเพียงพอ การเข้าถึง และความปลอดภัย อย่างต่อเนื่อง

 

 

รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง เป็นวิทยากรศุนย์บรรเทาสาธารณภัยเขต 6 อบรมเชิงปฎิบัติการการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีรั่วไหล (2)

     เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2567 รองศาสตราจารย์ ดร. สุนิสา ชายเกลี้ยง หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยและประธานหลักสูตรปริญญาโท วท.ม. สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเชิญจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "การกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย และฝึกปฏิบัติการตอบโต้กู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย"
     โดยอบรมภาคทฤษฎีและเชิงปฏิบัติการ แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีรั่วไหล เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อการจัดทำแผนและปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีรั่วไหลและการเกิดเพลิงไหม้
     ในการนี้มีนักศึกษาในหลักสูตรได้เข้าร่วมเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ในวิชาชีพและการปฏิบัติงานต่อไป จึงขอขอบพระคุณทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่นที่ให้ความสำคัญในงานด้านนี้และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมครั้งนี้
 

 

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ร่วมทีมคณาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือ สร้างงานวิจัย

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2567 รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ตัวแทนอาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานโครงการสร้างความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อสร้างงานวิจัยสำหรับการขอทุนวิจัยขนาดใหญ่ นำโดย ศ.ดร.ธีระศักดิ์ ดำรงรุ่งเรือง รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์วิจัยบัณฑิตศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย บุคลากร โดยมีตัวแทนอาจารย์จาก คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะสาธารณสุขศาสตร์ และสาขาวิชาร่วมบัณฑิตวิทยาลัย เดินทางไปยัง ศูนย์นวัตกรรมและกำรวิจัยมิตรผล (ศูนย์ขอนแก่น) ชั้น 9 ณ อาคารขอนแก่นอินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี ดร.มรกต สกุลสมบัติ ตำแหน่ง Asst. Manager Bio-based Chemical & Energy บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากร นำชมผลิตภัณฑ์ และร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย

โครงการสร้างความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อสร้างงานวิจัยสำหรับการขอทุนวิจัยขนาดใหญ่ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาให้ตรงต่อความต้องการขององค์กรเอกชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรเอกชน

ข่าวโดย : https://gs.kku.ac.th/th/category/7/activity_news/3725/
รายงานข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ


 

อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ร่วมอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มข. ออกบริการวิชาการเตรียมพร้อมบุคลากรโรงพยาบาลสู่การทำวิจัยฯ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ รศ.ดร.เชษฐา งามจรัส จากสาขาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับเชิญจากสำนักวิชาแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อเป็นวิทยากรบรรยายในการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Introduction to Systematic (Cochrane) Review” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรสู่การทำวิจัยเชิงสังเคราะห์และเผยแพร่แนวคิดและความสำคัญของงานวิจัยเชิงสังเคราะห์ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 08:30-16:30 น. ณ ห้องเรียนรวม ชั้น 6 อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ข่าวโดย : รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม
รายงานข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ