ข่าวกิจกรรมด้านบริหารจัดการ

สาธารณสุขศาสตร์ มข.จับมือมูลนิธิโตโยต้า มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวให้ 46 แห่ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน หวังแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง

   อาหารนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของความต้องการของมนุษย์ การบริโภคที่ขาดสมดุลกับความต้องการของร่างกายย่อมนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการทั้งภาวะการขาดสารอาหาร และภาวะการได้รับสารอาหารเกิน อย่างไรก็ตามผลจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการ ได้แก่ ปัญหาการได้รับสารอาหารเกิน และปัญหาการได้รับสารปนเปื้อนมากับอาหาร หรือที่เรียกว่าปัญหาความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2558 ทางมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง โดยการดำเนินการในครั้งนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาหารูปแบบร่วมกับการบูรณาการกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในหลักสูตรของโรงเรียนได้แก่ กิจกรรมการเกษตร กิจกรรมสหกรณ์ และกิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งดำเนินการในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 48 แห่ง ในจังหวัด ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย และอุดรธานี

    เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวให้โอวาทแก่ผู้รับทุน และ รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวรายงานต่อประธาน ซึ่งมีตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมรับทุน 46 แห่ง ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์

     รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน กล่าวว่า “คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองโดยใช้กรอบ“มีให้” (Availability) โดยการส่งเสริมให้ชุมชนมีการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารอย่างเพียงพอสำหรับโรงเรียนและชุมชน  “เข้าถึง” (Accessibility) โรงเรียนและชุมชนสามารถหาซื้อได้ง่ายในรูปแบบขายตรง ร้านค้า รถเร่หรือระบบตลาดชุมชน (จากการระดมสมอง) “พึงใจ” (Satisfaction) สามารถสนองตอบความต้องการด้านรสนิยมหรือวัฒนธรรมการบริโภคของนักเรียนหรือคนในชุมชนนั้นๆ   “ปลอดภัย” (Safety) อาหารที่ผลิตขึ้นในชุมชน/โรงเรียนต้องอยู่ในระดับปลอดภัย หรือปลอดสารพิษ และ “ราคาถูก” (Cheaper) เนื่องจากผลิตขึ้นเองในชุมชนทำให้ลดค่าขนส่ง และปัญหาพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ราคาอาหารถูกลง”

     คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชมในความอุตสาหะของท่านอาจารย์พิษณุ และคณะทำงานโครงการหนูรักผักสีเขียว ผู้บริหารโรงเรียน และครูอาจารย์ทุกท่าน ทุกท่านมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนโครงการ เชิญชวน และคัดเลือกโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯ ติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาโครงการฯมาอย่างต่อเนื่อง ขยายความรู้ทางโภชนาการและการเกษตรสู่คณะครูนักเรียนและชุมชน ผลสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นักว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และโครงการฯยังเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

    แม้ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่มูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนโครงการหนูรักผักสีเขียว เพื่อริเริ่มโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อาทิโครงการเพื่อสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมความรู้ระดับอาชีวศึกษา อย่างไรก็ดีโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ ก็เป็นโครงการที่ดีและสร้างสรรค์ ที่ได้ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและปลอดสารพิษ ของโรงเรียนและชุมชน สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ให้มีความพอเพียงและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้ครอบคลุมไปถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษาประมาณ 46 โรงเรียน ใน 19 ตำบลของ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย อีกทั้งยังได้รูปแบบการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารที่ผลิตโดยชุมชนทดแทนที่โรงเรียนผลิตไม่เพียงพอ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ของโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนนำไปสู่การสร้างรายได้ และการลดความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน ในอันที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

รายงานข่าว/ถ่ายภาพ :  นายบริพัตร ทาสี(กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

 

อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ สุดเจ๋ง ได้รับเชิญนำเสนอผลงานด้านวิชาการ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง ประธานหลักสูตร วท.ม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้รับเชิญให้นำเสนอหัวข้อ “การยศาสตร์: Ergonomics” และเป็นผู้ดำเนินรายการนำเสนอผลงาน พร้อมได้นำ น.ส.เสาวภา ห้วยจันทร์ และ น.ส.จุรีภรณ์ แก้วจันดา นักศึกษาหลักสูตร วท.ม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และ นายธวัชชัย ดาเชิงเขา นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต นำเสนองานวิจัย (Poster Presentation) ในงาน "2nd Asain Network of Occupational Hygiene Conference: ANOH-CON2017" ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2560

ภาพกิจกรรม

รายงานข่าวโดย : นายธวัชชัยดาเชิงเขา นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เสริมทักษะต่อยอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับคณาจารย์และบุคลากร

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กาญจนา นาถะพินธุ รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร เป็นประธานเปิดในโครงการฯ และ นายอณัชปกร สาระรัตน์ หัวหน้าสำนักงานคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ รับหน้าที่เป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร (การขยายพันธุ์พืช เช่น การตอน, การทาบกิ่ง, การเสียบกิ่ง, การปักชำแบบควบแน่น เป็นต้น) การทำฮอร์โมนอย่างง่าย การผลิต EM การผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทดแทนการใช้สารเคมี รวมไปถึงการผลิตยาสระผมและน้ำยาล้างจานจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อเป็นการส่งสริมความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคณาจารย์และบุคลากร เพื่อนำไปต่อยอดในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวต่อไป

   
   
   

ถ่ายภาพและรายงานข่าว โดย : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

คืนสู่เหย้าชาว สา’สุข มข. และชื่นชมยินดี มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ ประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 สมาคมศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับ สโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดงานกีฬาภายในเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยการแข่งขันกีฬาดังกล่าวได้รับความอนุเคราะห์สนามกีฬาจากโรงเรียนบ้านโนนม่วง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทั้งนี้มีการแข่งขันกีฬาฟุตบอล และกีฬามหาสนุก ซึ่งมีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมแข่งขันอย่างสนุกสนาน

ในช่วงเย็นเป็นงาน “คืนสู่เหย้าชาว สา’สุข มข.” ซึ่งเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์น้องพี่ชาวสาธารณสุขศาสตร์ ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน กิจกรรมในค่ำคืนดังกล่าวมีการแสดงมุฑิตาจิตต่อคณาจารย์ การร้องเพลงคณะร่วมกันระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน การเล่าเรื่องราวในอดีตโดยรุ่นพี่ศิษย์เก่า การแสดงแสงสีเสียงของศิษย์รุ่นปัจจุบัน และการบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อมอบให้แก่ศิษย์ปัจจุบันและใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของคณะฯ และนอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้สังคมประเทศชาติต่อไป 

ในงานคืนสู่เหย้าที่ผ่านมามีศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2560 ดังต่อไปนี้

  • เก่าดีเด่นด้านความสำเร็จในอาชีพ/หน้าที่การงาน มี 2 ท่าน คือ

1. นางสาวเพ็ญศรี รักผักแว่น ตำแหน่ง ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสิงห์บุรี หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 4 สถานที่ทำงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสิงห์บุรี

2. นายวิชัย เนียมมูล ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ

หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 18 สถานที่ทำงาน บริษัท ยูนิลิเวอร์ ไทย เซอร์วิสส์ จำกัด  กรุงเทพฯ

  • ศิษย์เก่าดีเด่นด้านผลงานวิชาการ มี 2 ท่าน คือ

1. รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์ ตำแหน่ง รองศาสตราจารย์

หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 4 สถานที่ทำงาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2. ดร.จริยา อินทรรัศมี ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ

หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 2 หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม สถานที่ทำงาน ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น  

  • ศิษย์เก่าดีเด่นด้านสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและสถาบัน มี 2 ท่าน คือ

1. อาจารย์ ดร.อดิศร วงศ์คงเดช ตำแหน่ง รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 4

สถานที่ทำงาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

2. ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ฝ่าย 2 หลักสูตร วท.บ. รุ่นที่ 9

สถานที่ทำงาน สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ

  • ศิษย์เก่าดีเด่นด้านบัณฑิตศึกษา มี 2 ท่าน คือ

1. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.พงศกร ตันติลีปิกร ตำแหน่ง รองศาสตราจารย์, ผู้ช่วยผู้อำนวยการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว), ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

หลักสูตร ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชา วิทยาการระบาดและชีวสถิติ (หลักสูตรนานาชาติ)

สถานที่ทำงาน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

2. นางจิรัฐิติกาล ดวงสา ตำแหน่ง นักโภชนาการ ชำนาญการ

หลักสูตร สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา โภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพ

สถานที่ทำงาน โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา

 

ถ่ายภาพ : เอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์  อุระ

 

“ครบรอบ 39 ปี” วันสถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี วันสถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ นำโดย นายอณัชปกร สาระรัตน์ หัวหน้าสำนักงานคณบดี นำบุคลากร ร่วมจัดงานทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าแต่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป       ณ ลานกาสะลอง คณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งนี้โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดี และคณะผู้บริหารฯ คณาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และศิษย์เก่า ร่วมงานพิธีทำบุญ ในครั้งนี้

นอกจากการจัดงานทำบุญแล้ว ในโอกาส “ครอบรอบ 39 ปี” นี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ยังได้จัดโครงการประชุมวิชาการ เรื่อง “อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย” ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และ งานวัน “คืนสู่เหย้าชาว สา’สุข ประจำปี 2560” ในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 อีกด้วย

ถ่ายภาพโดย : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

ชื่นชมและยินดีกับสโมสรนักศึกษา,นักศึกษา และศิษย์เก่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ โอกาสได้รับรางวัล “รองชนะเลิศอันดับ 1” ในการประกวดกระทงขนาดใหญ่ ประเภทอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับสโมสรนักศึกษา,นักศึกษา และศิษย์เก่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันในทุกภาคส่วน ผลให้ได้รับรางวัล "รองชนะเลิศอันดับ 1" ในการประกวดกระทงขนาดใหญ่ ประเภทอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม(รับถ้วยรางวัลจากพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นในงาน “สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ”(Sithan KKU Festival 2017) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 จัดโดยสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายงานข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ