ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม ออกบริการวิชาการรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Interpretation of Meta-analysis & GRADE approach for Guideline development”

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “Interpretation of Meta-analysis & GRADE approach for Guideline development” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 4-5 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการประเมินผลงานวิชาการ (knowledge of critical appraisal) รวมทั้ง การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “ยูโทรฟิเคชัน : สาเหตุ ปัญหา การป้องกัน และ การแก้ไขให้คุ้มค่า และคุ้มทุน”

      วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. จัดโครงการประชุมสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “ยูโทรฟิเคชัน : สาเหตุ ปัญหา การป้องกัน และ การแก้ไขให้คุ้มค่า และคุ้มทุน” โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเตอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน ในงานดังกล่าวได้รับเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ Dr. Brian J. Huser (Docent, Swedish University of Agricultural Sciences (SLU) เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ยูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด ความท้าทายในการแก้ปัญหา” (Freshwater Eutrophication: Current Situation and Challenges) และ ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ อาจารย์ Anthony C. Kuster อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมการเสวนา เรื่อง “การเพิ่มความเข้มแข็งในการแก้ปัญหายูโทรฟิเคชั่นและการฟื้นฟูแหล่งน้ำจืดใน ประเทศไทยจากประสบการณ์ในระดับสากล”(Eutrophication and Lake Restoration: Building Thailand’s Capacity with Global Experience) หลังจากนั้นเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดตั้งเครือข่าย และการกำหนดความร่วมมือและแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย โดย อาจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม วิจัย และการประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (EARTH) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ซึ่งการประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้มีผู้สนใจทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมจำนวนมากกว่า 100 ท่าน
ดาวน์โหลดลิงค์เอกสารประกอบ

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมมือ 5 หน่วยงาน MOU “โครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศ ในงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและแก้ปัญหายูโทฟิเคชัน ในแหล่งน้ำจืด”

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ระหว่าง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข., สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กองฝึกอบรมภูมิภาค 2 การประปาส่วนภูมิภาค, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และเทศบาลตำบลบ้านเป็ด จัด พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและแก้ปัญหายูโทฟิเคชัน(สาหร่ายแตกตัว) ในแหล่งน้ำจืด” ทั้งนี้เพื่อการฟื้นฟูและแก้ปัญหาแหล่งน้ำจืด ภายในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีเจตนารมณ์ร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อชุมชนเป็นสำคัญจากกรณีศึกษาบึงกี ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มข., นายปรีดา นิลสาคู ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป็ด, นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และคณาจารย์ บุคลกจากรตัวแทนหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักใน 3 ด้านคือ (1)เพื่อศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการจัดการด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งน้ำจืดในพื้นที่ต้นแบบเทศบาลตำบลบ้านเป็ดและขยายผลสู่ท้องถิ่นอื่นๆ (2)เพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน (3)เพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้งสี่องค์กรให้มีศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย ออกให้บริการวิชาการโดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Cochrane reviews: Introduction to using & producing Cochrane reviews”


รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ จาก Cochrane Thailand ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “Cochrane reviews: Introduction to using & producing Cochrane reviews” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถสืบค้นข้อมูล และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้จาก Cochrane library สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจทางคลินิกเพื่อการพัฒนาคุณภาพด้านบริการ และมีความรู้ความเข้าใจในหลักการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) และสามารถผลิตผลงานวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป

ข่าวโดย : .ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

 

อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ออกให้บริการผลงานด้านวิชาการในการรับใช้สังคม ณ เทศบาลตำบลบ้านเป็ด จ.ขอนแก่น

      เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ และ ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ร่วมนำเสนอรายงานความก้าวหน้า โครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและแก้ปัญหายูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ในแหล่งน้ำจืด ซึ่งเป็นผลงานวิชาการรับใช้สังคม ในประเด็นที่น่าสนใจคือ การนำเสนอข้อมูล Phosphorus forms ในตะกอนดินจากบึงกี โดยใช้วิธี P-Sequential extraction ในการตรวจวัดค่า

 

ภาพ/ข่าวโดย : เทศบาลตำบลบ้านเป็ด และ ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์

 

 

บุคลากรจาก 17 ประเทศเข้าศึกษาดูงานคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม. ขอนแก่น

      เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 สถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำผู้เข้าร่วมอบรมระดับนานาชาติในหลักสูตร Principle Concept and Practice of One Health for Emerging Disease Management: Lesson Learn in Asia Region” ซึ่งเป็นบุคลากรในองค์กรต่างๆ จำนวน 18 คน จาก 17 ประเทศ ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) เข้าศึกษาดูงาน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.

      ในช่วงเช้าได้เข้าศึกษาดูงาน ที่ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (Data Management and Statistical Analysis Center: DAMASAC) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ และคณะ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลศูนย์ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ รวมถึงนำคณะศึกษาดูงานเข้าชม Stat Village ด้วย 

      ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมกิจกรรมนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยสุขภาพร่วมกับหลักสูตรสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ ประธานหลักสูตร ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา ดวงสงค์ และ อาจารย์ ดร.นาฏนภา ปัดชาสุวรรณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมอบรมด้วย   

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์