ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

TGU ประเทศญี่ปุ่น จับมือ มข. วิจัยผลกระทบจากอุทกภัยในภาคอีสาน

Professor Yoshinobu Ishibashi จาก Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น เข้าหารือการลงนาม MOU กับอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Professor Yoshinobu Ishibashi จาก Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เพื่อเข้าหารือเรื่องการทำวิจัยร่วมกับคณาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ เรื่อง Effect of Flood on Water Quality and Health in the Northeast of Thailand ซึ่ง Tohoku Gukuin University จะจัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยขึ้น ในวันที่ 17 มีนาคม 2557 โดยได้เชิญอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว ณ Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น
 
                  การวิจัยร่วมกันของสองสถาบัน ได้มีการประสานความร่วมมือกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดย Professor Yoshinobu Ishibashi ได้เดินทางมาเจรจาความร่วมมือและลงสำรวจพื้นที่การเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับคณะทำงานวิจัยในภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ จนกระทั่งได้ยื่นขออนุมัติงบประมาณจาก Tohoku Gukuin University และได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อทำวิจัย การเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าพบอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อหารือเรื่องการจัดพิธีลงนามความร่วมมือขึ้น ก่อนเริ่มเก็บข้อมูลในพื้นที่ในเดือน พฤษภาคม 2557
 
   
ข่าว: ผุสดี ไกยวงษ์
ภาพ: ขวัญหทัย สินเธาว์

 

มข. รุดหน้า แก้ปัญหามะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการติดตั้งและใช้งานระบบ CASCAP Tool นวัตกรรมเพื่อชาวอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี

ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางสุขภาพ เรียกว่า CASCAP Tools (CASCAP: Cholangiocarcinoma screening and care program) โดยมุ่งให้ได้ทั้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์สร้างองค์ความรู้ตามวัตถุประสงค์ และได้ระบบที่สามารถเชื่อมโยงกับการทำงานตามปกติของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ง่าย และเกิดประโยชน์ทั้งด้านการวิจัย และการดำเนินงานประจำ รวมทั้งการจัดการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน บังเกิดประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหามะเร็งท่อน้ำดีในคนอีสานต่อไปในระยะยาว มอบเป็นนวัตกรรมสำหรับชาวอีสาน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม และมี ผศ.นพ.ณรงค์ขันตีแก้ว ภาควิชาศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาของโครงการและกล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม
 
รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้ดำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ กล่าวว่า “CASCAP Tools ได้รับการพัฒนาเสร็จสิ้นเป็น Version ที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดให้มีการติดตั้งและใช้งานระบบ CASCAP ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งมอบ CASCAP Tools ให้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี แก่หน่วยบริการสาธารณสุข และเพื่อฝึกปฏิบัติใช้งานระบบดังกล่าว”
 
การอบรมในครั้งนี้ จัดเป็น 3 รุ่น  จาก 13 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วย 33 โรงพยาบาล 13 หน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) และ 222 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 262 คน สำหรับรุ่นที่หนึ่งคือวันที่ 6 มกราคม 2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 153 คน สำหรับรุ่นที่สองคือวันที่ 7 มกราคม 2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์และพยาบาล ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 74 คน และรุ่นที่สามคือวันที่ 8 มกราคม 2557 ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์และพยาบาล ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 35 คน ทั้งนี้  ได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรจากโครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 โรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงมากที่สุดในประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยในระยะสุดท้าย ยังผลให้มีอัตรารอดชีพต่ำมาก โครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้รับการพัฒนาขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เป็นหนึ่งโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และดำเนินการภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นและให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกันในรูปเครือข่าย และบูรณการกับภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขอย่างแนบแน่น โดยดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสานต่องานอย่างยั่งยืนสืบไป 
 
ข่าว: ผุสดี ไกยวงษ์
ภาพ: ปิยพล จันทรา

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556 เพื่อส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันนักวิจัยในการผลิตผลงานวิชาการ และยกย่องชมเชยนักวิจัยดีเด่นที่สร้างชื่อเสียง

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย รศ.ดร.วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์ ประธานกรรมการคัดเลือกนักวิจัยดีเด่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดโครงการเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556 เพื่อส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันนักวิจัยในการผลิตผลงานวิชาการ และยกย่องชมเชยนักวิจัยดีเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ ในปีนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดี ได้มอบรางวัลให้แก่นักวิจัยดีเด่น ในวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556  ในกิจกรรมวัน “Sport Day and Night Fancy สานสัมพันธ์ครอบครัวชาวสาธารณสุขศาสตร์”   โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1) นักวิจัยที่มีจำนวนบทความวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (citation) ในฐานข้อมูล Refereed Journal สูงสุด  ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.มาลินี  เหล่าไพบูลย์

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.บัณฑิต  ถิ่นคำรพ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.ภัทระ  แสนไชยสุริยา

2) นักวิจัยที่มีจำนวนบทความวิจัยที่เป็นชื่อแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูล ISI และ SCOPUS  ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.สุพรรณี  พรหมเทศ

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.จุฬาภรณ์  โสตะ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พอใจ  พัทธนิตย์ธรรม

                                  ดร.ศิริพร  คำสะอาด

                                  อ.เชษฐา  งามจรัส

3) นักวิจัยที่มีผลรวมค่า Impact factor-SJR สูงที่สุด ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.มาลินี  เหล่าไพบูลย์

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.บัณฑิต  ถิ่นคำรพ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พอใจ  พัทธนิตย์ธรรม

 

 

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญ จาก Denmark

ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง คณะกรรมการวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง “Risk Assessment : the new advance and publishable research topics” เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก Professor Dr.Herman Nybro Autrup  อาจารย์ประจำ School of Public Health, University of Aarhus ประเทศ Denmark เป็นวิทยากร  การบรรยายพิเศษในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน 

ข่าว : อรวรรณ ดีสุรกุล

คณะสาธารณสุขศาสตร์ร่วมเป็นเจ้าภาพและพิธีเปิดการประชุมวิชาการฯ

วันที่ 4 ธันวาคม 2556 ผศ.ดร.สมศักดิ์  พิทักษานุรัตน์  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รศ.ดร.จุฬาภรณ์  โสตะ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง The Third  Global Congress for Qualitative Health Research, “Holistic Caring in the Global Context: Evidences from Qualitative Health Research” ระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2556 ณ ห้องออร์คิดบอลรูม 2-3  โรงแรมพูลแมนขอนแก่น โดยมีผู้เข้าประชุมเป็นนักวิชาการ นักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกสาขา จากประเทศต่างๆ รวมทั้งนักศึกษาบัณฑิตศึกษา บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และผู้สนใจ จำนวน 300 คน

โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง The Third  Global Congress for Qualitative Health Research, “Holistic Caring in the Global Context: Evidences from Qualitative Health Research” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศด้านการเรียนการสอน การวิจัย อบรมระยะสั้นและการศึกษาดูงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการใช้ การเผยแพร่และการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้จากงานวิจัยนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและประสบการณ์ทางสุขภาพของบุคลากรทางด้านสุขภาพกลุ่มนักวิชาการสุขภาพ นักวิจัยทางด้านสุขภาพระดับนานาชาติ และพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการระหว่างสถาบันต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ WHO Collaborating Center for Research and Training on Gender and Women’s Health, Research, Faculty of Nursing, Khon Kaen University,  Training Center for Enhancing Quality of Life of Working Age People, Faculty of Nursing, Khon Kaen University, Faculty of Public Health, Khon Kaen University, University of Washington, Seattle, USA เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ 

ประชุมวิชาการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2

บุคลากรด้านสาธารณสุข กว่า 2,000 คน ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมวิชาการและความร่วมมือสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ครั้งที่ 2

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการและความร่วมมือสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เริ่มต้นอย่างไร... เมื่อกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนบังคับใช้” ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด ขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พิษณุ อุตตมะเวทิน รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คนจากทั่วประเทศ และได้กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งการจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมารตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการสาธารณสุขย่อมได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย จึงพึงต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ การประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เมื่อกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนบังคับใช้ เพื่อให้วิชาชีพสาธารณสุขให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในอนาคต”
 
หลังจากนั้นเป็นพิธีเปิดการประชุมฯ โดยมีบุคคลสำคัญ 4 ท่าน ร่วมกันเปิดงานในครั้งนี้ ได้แก่ นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข รองศาสตราจารย์พิษณุ อุตตมะเวทิน รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองศาสตราจารย์พิทยา จารุพูนผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ร่วมถ่ายภาพกับคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข รวมทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
ในช่วงเช้าผู้เข้าร่วมประชุมได้อุ่นเครื่องโดยการร่วมกันร้องเพลง กำลังใจ และชมวีดีทัศน์ “คนทำงาน ก้าวสู่วิชาชีพสาธารณสุข ” ก่อนรับฟังบรรยายเรื่อง “รู้จัก เข้าใจ เข้าถึง ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง” โดย นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และอุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอมุมมอง “คุณค่าและความคาดหวังต่อวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน” เสวนาเรื่อง “ทางเลือกสถาบันการศึกษากับแนวทางการพัฒนานักสาธารณสุขสู่วิชาชีพ” และ “เส้นทางวิชาชีพ สู่เส้นทางมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานสาธารณสุขหลายหน่วยงานร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
 
การประชุมดังกล่าวยังมีต่อเนื่องไปถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นการอภิปราย ในหัวข้อ “รู้ทันพระราชบัญญัติวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน: การบังคับใช้กฎหมาย” พร้อมทั้งรับฟังข้อซักถามต่างๆ จากผู้เข้าร่วมประชุม ต่อจากนั้นเป็นการร่วมกันเสนอ “ร่างปฏิญญาข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน” และพิธีส่งมอบร่างปฏิญญาดังกล่าวให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภูดิท เตชาติวัฒน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งต่อไป และปิดการประชุม เวลา 13.30 น.
 
 
 
ข่าว: ผุสดี ไกยวงษ์
ภาพ: กรุณา โสฬสจินดา