ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ลงนาม MOU กับ ANU มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศออสเตรเลีย

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ขยายความร่วมมือทางวิชาการ จัดพิธีลงนาม MOU กับ Research School of Population Health, Australian National University ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ  Research School of Population Health, Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองสถาบันได้ตกลงที่จะขยายความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนด้านการวิจัย การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านวิชาการของทั้งสองสถาบัน

การลงนามในครั้งนี้ มี Professor Darren Gray หัวหน้ากลุ่ม Department of Global Health รองผู้อำนวยการ Research School of Population Health เป็นตัวแทนลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วย Dr.Matthew Kelly, Research Fellow และ Professor Archie Clements รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้วย   

นอกจากนี้ Professor Darren Gray และ Dr.Matthew Kelly ได้เข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคณะ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานและการพัฒนางานวิจัยโดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ นอกจากนี้แล้วยังได้เข้าศึกษาดูงานกลุ่มวิจัยวิทยาการระบาดและการป้องกันโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์เดช สารการ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มวิจัย นำชมสำนักงานและนำเสนองานด้านการวิชาการการคัดกรองมะเร็งลำไส้ ระหว่างวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : น.ส.ผุสดี ไกยวงษ์

 

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ตีแผ่ข้อมูลด้านฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 แนะวิธีการป้องกัน

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. โดยได้รับเกียรติให้เขียนบทความลงใน นิตยสาร ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน(Occupational Safety, Health and Environment); OSHE magazine ฉบับที่ 5 เรื่อง ฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 หน้า 61-70 ดังนี้

      นิตยสาร ความปลอดภัยฯ เป็นนิตยสารได้รับความนิยม และเผยแพร่แก่นักวิชาการ บุคลากร ทางอาชีวอนามัย อ่านกันอย่างแพร่หลาย ทั้งหน่วยงานรัฐบาล และเอกชน เนื้อหาในบทความนี้ กล่าวถึงในปัจจุบันมีผลกระทบมากมายจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติต่างๆ แต่หัวข้อที่กล่าวถึงอย่างมากมายในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองที่ปกคลุมเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหานี้ จากรายงานสถานการณ์มลพิษจากหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงฝุ่นละอองในบรรยากาศชนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5  และ PM10) และการป้องกัน

      ฝุ่น PM2.5  ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ฝุ่นมลพิษ” ที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบในการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าร่างกาย ฝุ่น PM10 จะเข้าถึงเพียงโพรงจมูกและช่องคอ แต่ฝุ่น PM2.5 นั้นสามารถเข้าถึงหลอดลมใหญ่จนถึงถุงลมปอดได้ ในทางวิชาการฝุ่น 2.5 เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก

ภาพจากนิตยสารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน Occupational Safety, Health and Environment

 

สำหรับฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นมลพิษนั้น มีแหล่งกำเนิดจากการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรมการผลิต การรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ

ค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10

      ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศคำนึงถึงการที่จะควบคุมให้คุณภาพของอากาศในบรรยากาศมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อที่จะให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพอากาศให้เป็นมาตรการสำหรับตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สภาพแวดล้อมของบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว โดยมาตรฐานคุณภาพอากาศต่อไปนี้จะกล่าวถึงค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ  PM2.5 และ PM10  ของ 9 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้

             - National Ambient Air Quality Standards (NAAQS) มาตรฐานที่ออกโดย US.EPA
             - Air Quality Guidelines (AQG): WHO
             - Air Quality Framework Directive (AQFD): EU เป็นค่ามาตรฐานที่มีการกำหนดใช้ในยุโรป ซึ่งมีค่าความเข้มข้นกำหนดตามระยะเวลาการเก็บเฉลี่ย 3 ปี
             - Central Pollution Control Board (CPCB) of India ค่ามาตรฐานของประเทศอินเดีย กำหนดค่าความเข้มข้นสำหรับบริเวณโรงงานและบริเวณทั่วไป

             - AUSTRALIA: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย
             - MEXICO: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศเม็กซิโก
             - Environmental Quality Standard (EQS) ; MOE (JAPAN) ค่ามาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำหนดเพียงค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เท่านั้น
             - Ambient Air Quality Standard (GB3095-2012) , China's AAQS-2012 : Primary standards ค่ามาตรฐานของประเทศจีน เป็น Primary standards คือมาตรฐานสูงสุดที่ได้กำหนดไว้ และแบ่งค่าความเข้มข้นเป็น 2 class ตามพื้นที่การเก็บคือ มาตรฐานชั้น 1 ใช้กับพื้นที่พิเศษเช่นอุทยานแห่งชาติ และมาตรฐานชั้น 2 ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งหมดรวมถึงเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม
             - มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป ประเทศไทย - ออกโดยกรมควบคุมมลพิษ

      การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า มลพิษในอากาศ มีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพในหลายระบบ เช่น  ทางเดินหายใจ ผิวหนัง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ผลกระทบนอกจากทำให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่นกัน โดยมีการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดและโรคหัวใจ ทำลายประสาทและก่อให้เกิดมะเร็ง

      จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อ Outdoor Air Pollution a leading environment cause of cancer deaths หรือมลภาวะทางอากาศเป็นต้นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง รวมถึงงานวิจัยของ Birminnham University UK ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งในอากาศกรุ๊ป 1 (Group 1) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมของสตรีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยังส่งผลต่อโรคมะเร็งปอดของเพศชายในอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนฝุ่นพิษขนาดเล็กดังกล่าวยังทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น 5 ไมครอนต่อปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคหัวใจด้วยเช่นกัน (สำนักข่าวไทย, 2561) และจากการศึกษาของ ดร.มาร์ค โกลด์เบิร์ก ได้พบความเกี่ยวพันระหว่างการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว กับการสัมผัสกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจร
      สรุปได้ว่า สตรีที่อยู่ในบริเวณซึ่งมีปริมาณมลพิษสูงสุด จะเสี่ยงกับที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษน้อยกว่ากันถึง เท่า (สำนักข่าวไทยรัฐ, 2553) ล่าสุดก็มีผลงานวิจัยรายงานว่า PM2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานอีกด้วย

ข้อมูลเนื้อหาโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.
รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม ออกบริการวิชาการรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Interpretation of Meta-analysis & GRADE approach for Guideline development”

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “Interpretation of Meta-analysis & GRADE approach for Guideline development” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 4-5 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการประเมินผลงานวิชาการ (knowledge of critical appraisal) รวมทั้ง การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “ยูโทรฟิเคชัน : สาเหตุ ปัญหา การป้องกัน และ การแก้ไขให้คุ้มค่า และคุ้มทุน”

      วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. จัดโครงการประชุมสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “ยูโทรฟิเคชัน : สาเหตุ ปัญหา การป้องกัน และ การแก้ไขให้คุ้มค่า และคุ้มทุน” โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเตอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน ในงานดังกล่าวได้รับเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ Dr. Brian J. Huser (Docent, Swedish University of Agricultural Sciences (SLU) เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ยูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด ความท้าทายในการแก้ปัญหา” (Freshwater Eutrophication: Current Situation and Challenges) และ ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ อาจารย์ Anthony C. Kuster อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมการเสวนา เรื่อง “การเพิ่มความเข้มแข็งในการแก้ปัญหายูโทรฟิเคชั่นและการฟื้นฟูแหล่งน้ำจืดใน ประเทศไทยจากประสบการณ์ในระดับสากล”(Eutrophication and Lake Restoration: Building Thailand’s Capacity with Global Experience) หลังจากนั้นเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดตั้งเครือข่าย และการกำหนดความร่วมมือและแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย โดย อาจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม วิจัย และการประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (EARTH) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ซึ่งการประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้มีผู้สนใจทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมจำนวนมากกว่า 100 ท่าน
ดาวน์โหลดลิงค์เอกสารประกอบ

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมมือ 5 หน่วยงาน MOU “โครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศ ในงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและแก้ปัญหายูโทฟิเคชัน ในแหล่งน้ำจืด”

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ระหว่าง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข., สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กองฝึกอบรมภูมิภาค 2 การประปาส่วนภูมิภาค, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และเทศบาลตำบลบ้านเป็ด จัด พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและแก้ปัญหายูโทฟิเคชัน(สาหร่ายแตกตัว) ในแหล่งน้ำจืด” ทั้งนี้เพื่อการฟื้นฟูและแก้ปัญหาแหล่งน้ำจืด ภายในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีเจตนารมณ์ร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อชุมชนเป็นสำคัญจากกรณีศึกษาบึงกี ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มข., นายปรีดา นิลสาคู ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป็ด, นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และคณาจารย์ บุคลกจากรตัวแทนหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักใน 3 ด้านคือ (1)เพื่อศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการจัดการด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งน้ำจืดในพื้นที่ต้นแบบเทศบาลตำบลบ้านเป็ดและขยายผลสู่ท้องถิ่นอื่นๆ (2)เพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน (3)เพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้งสี่องค์กรให้มีศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ

 

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย ออกให้บริการวิชาการโดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Cochrane reviews: Introduction to using & producing Cochrane reviews”


รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ จาก Cochrane Thailand ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “Cochrane reviews: Introduction to using & producing Cochrane reviews” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถสืบค้นข้อมูล และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้จาก Cochrane library สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจทางคลินิกเพื่อการพัฒนาคุณภาพด้านบริการ และมีความรู้ความเข้าใจในหลักการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) และสามารถผลิตผลงานวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป

ข่าวโดย : .ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย