ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

การถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยเชิงพื้นที่สู่ชุมชนและเครือข่าย

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนเรื่อง การฟื้นฟูและแก้ปัญหา Eutrophication ในแหล่งน้ำจืด ที่ห้องประชุมสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยเชิงพื้นที่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 เรื่อง พร้อมแจกเอกสารคู่มือแนวทางการประเมินปัญหายูโทฟิเคชั่น การเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์และการแปลผลข้อมูล แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย ทั้งนี้ผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการกองช่าง กองสิ่งแวดล้อมจากหลายเทศบาล เช่น เทศบาลเมืองเก่า เทศบาลบ้านเป็ด เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่จาก สนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 

ข่าวโดย : ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์

 

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ออกให้บริการวิชาการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ปัญหาฝุ่น PM2.5 : เผาป่าทำให้เกิดมลพิษจริงหรือ?”

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยได้รับทุนจากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการออกบริการวิชาการเพื่อสังคม จัดกิจกรรมภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “ปัญหาฝุ่น PM2.5: เผาป่าทำให้เกิดมลพิษจริงหรือ?”

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่าง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) คณะแพทยศาสตร์ และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ปัญหาฝุ่น PM2.5 : เผาป่าทำให้เกิดมลพิษจริงหรือ?” ได้รับเกียรติจากท่านรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ อาจารย์บัญชา พระพล เป็นประธานเปิดงาน นำทีมโดย รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู พร้อมกับทีมงาน และ นักศึกษาสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมปีที่ 3 รวมจำนวน 30 คน ลงพื้นที่จัดงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็นและหาแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายในชุมชน พร้อมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพแก่ภาคประชาชน ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดสร้างเครือข่ายองค์กรภายในชุมชนที่เข้มแข็งในการจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ต่อไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 คน และให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างดีเยี่ยม

ข่าวโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู
รายงานข่าว : ศรศักดิ์ อุระ

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. จัดเสวนากู้วิกฤตผลกระทบ PM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

คณะสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่มวิจัยป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ได้จัดเสวนาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศ PM2.5 ในหัวข้อเรื่อง “กู้วิกฤตผลกระทบPM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการเสวนาวิจัยและบริการวิชาการที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบัน และส่งเสริมงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2563 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 08.30 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.อุไรวรรณ อินทร์ม่วง  รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมี รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู คณะกรรมการวิจัยและบริการวิชาการ เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษทั้งระบบ ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อาจารย์  นักวิจัย และนักศึกษามหาวิทยาลัย สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจทั่วไป เข้าร่วมงานกว่า 100 คน

ข่าวโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู
รายงานข่าวโดย : ศรศักดิ์ อุระ

 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ออกให้บริการวิชาการเป็นวิทยากรบรรยายเชิงปฏิบัติการฯ

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับเชิญจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นวิทยากรบรรยายการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การทบทวนอย่างเป็นระบบ (Systematic reviews)” รุ่นที่ 4 ระยะที่ 2 ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ข่าวโดย : อ.ศิวานนท์  รัตนะกนกชัย

 

คณะสาธารณสุข มข.ฟิต รณรงค์ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู  อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอยู่ในขณะนี้ ในจังหวัดขอนแก่นมีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสีส้มมาหลายวันและบางวันมีสีแดงเข้มในช่วงเย็นซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ทางสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และได้เชิญชวนประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้อาจารย์และนักศึกษาในคณะใส่หน้ากากอนามัยที่หาซื้อได้ง่ายใส่เพื่อเป็นการกรองอากาศระดับหนึ่งโดยเฉพาะฝุ่นพิษ และหากจะดีไปกว่านั้นให้ใช้ทิชชู่อีก 1 แผ่นวางรองบริเวณหน้ากากก็จะสามารถป้องกันฝุ่นได้ดีขึ้น แม้จะไม่ได้มีประสิทธิภาพดีเหมือนหน้ากาก N95 ซึ่งหาซื้อค่อนข้างยากและราคาแพงแต่อย่างน้อยการใส่หน้ากากอนามัยก็เป็นจะเริ่มต้นในการป้องกันตัวเองได้

“เบื้องต้นได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ใส่หน้ากากอนามัยในกลุ่มของสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งอาจารย์และนักศึกษา และมีการถ่ายภาพประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใส่ด้วย ซึ่งหากเราไม่เริ่มต้นก็ไม่รู้จะไปบอกกล่าวคนอื่นได้อย่างไร เพราะสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องอาชีวอนามัยอยู่แล้วหากเราไม่ตื่นตัวและเริ่มป้องกันตัวก่อน คนอื่นก็อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เลยก็ได้” รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู กล่าว

เนื้อหาข่าวจาก : komchadluek.net
ข่าว/ภาพ สุมาลี สุวรรณกร

 

อาจารย์สาธารณสุข มข. ทำคู่มือความรู้ PM 2.5 หวังให้ทุกคนตระหนักรู้พิษ "ฝุ่นจิ๋ว"

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ร่วมกับทีมอาจารย์จากอีกหลายคณะศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง และได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการออกสู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ประกอบด้วยตนเองพร้อมกับ ผศ.ดร.ชนัญญา จิระพรกุล และ อ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล ได้จัดทำหนังสือคู่มือเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ความรู้กับผู้สนใจ โดยทำออกมาเป็น 3 เวอร์ชั่นคือ สำหรับเด็กซึ่งจะมีภาพวาดการ์ตูน เป็นป๊อบอัพ สีสันสดใส ฉบับสำหรับผู้สูงอายุซึ่งจะมีลักษณะพิเศษคือตัวหนังสือใหญ่ อ่านง่ายสบายตา และสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีข้อมูลเนื้อหาที่น่าสนใจครบถ้วนตีพิมพ์ด้วยสีสันสวยงามเผยแพร่

โดยหนังสือชุดความรู้ทั้ง 3 ฉบับนี้ได้จดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่สามารถเลียนแบบหรือทำเพื่อการค้าได้ แต่หากต้องการเผยแพร่เป็นข้อมูลความรู้สามารถดำเนินการได้ โดยมุ่งหวังให้ความรู้แก่ประชาชนคนทั่วไปเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หรือฝุ่นจิ๋วซึ่งเป็นพิษภัยต่อสุขภาพร่างกายมาก เนื่องจากเป็นฝุ่นพิษที่มาพร้อมกับฤดูหนาวซึ่งในภาคอีสานและเหนือสาเหตุหลักจะมาจากการเผาไหม้ ทั้งเผาอ้อย เผาตอซังข้าว เผาใบไม้ เผาขยะ แต่หากเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯจะมีสาเหตุจากควันรถ ฝุ่นการก่อสร้าง

หลังจากได้ร่วมกันกับอาจารย์หลายคณะทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่องพบว่าเดือนที่มีปัญหามากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พออากาศปิดสภาพเมืองเหมือนกับเอาฝาชีมาครอบไว้ ก็จะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายและอยู่ในอากาศมาก ประชาชนหายใจเข้าไปก็จะสูดดมเอาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปด้วยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแม้มีแอพพิเคชั่นตรวจสภาพอากาศและรายงานสภาพอากาศแต่ประชาชนยังรู้ข้อมูลน้อย บางวันที่แอพพิเคชั่นบอกว่าสภาพอากาศเป็นสีส้มต้องระวังตัวแต่ยังมีการออกมากลางแจ้งอยู่ อย่างครูยังพาเด็กเล็กออกกำลังกายกลางแจ้งซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ในหนังสือคู่มือทั้ง 3 เล่มก็จะบอกถึงสาเหตุ ปัญหาและวิธีการแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ประชาชนป้องกันตัวและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพของเรา เราต้องสนใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ครูอาจารย์ต้องตระหนักเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพให้บุตรหลานและอยากจะให้มีมาตรการจริงจังในการป้องกันการเผาเพื่อไม่ให้เกิดพีเอ็ม 2.5 รุนแรงไปกว่านี้รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ชนัญญา สาขาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะทำงานเปิดเผยว่า สำหรับหนังสือคู่มือให้ความรู้ดังกล่าวยินดีเผยแพร่ให้กับผู้สนใจ โดยก่อนหน้านี้ได้ออกไปให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ระดับอนุบาล) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะเป็นอันตรายทั้งกับเด็กเล็กและกับผู้ใหญ่ด้วย หากวันที่อากาศปิดไม่ควรพาเด็กเล็กมาออกกำลังกายกลางแจ้งเพราะจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ และยิ่งช่วงเย็นมีการเผาไหม้ในปริมาณมาก หากมาออกกำลังกายกลางแจ้งอาจจะเกิดอาการสโตรกหรือหัวใจหยุดเต้นได้

เนื้อหาข่าวจาก : komchadluek.net
ภาพ/ข่าว พรพรรณ เพ็ชรแสน
ภาพ/ข่าวจิติมา จันพรม นักข่าวภูมิภาค จ.ขอนแก่น