ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมนำเสนอผลงาน ในการประชุม FEWS Challenge

อาจารย์ ดร. ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุม The 2nd International Symposium on Food-Energy-Water Security Challenge: A Multi-dimensional Perspective ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา ขอนแก่น โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายวิจัยและถ่ายทอกเทคโนโลยี และฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นอกจากนี้แล้วการจัดการประชุมดังกล่าวยังมี University of Technology เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดการประชุมด้วย

          เมื่อวันพุธที่ 10 ธันวาคม 2557 อาจารย์ ดร. ฤทธิรงค์ จังโกฏิ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Spatial Planning Integrated Development Plan of Local Administration Organization: Case Study of Bua Nguen Tambon Administration Organization และร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ

มหาวิทยาลัย Tohoku Gakuin University ประเทศญี่ปุ่นวางแผนร่วมวิจัยกับ มข.

Tohoku Gakuin University เมือง Sendai ประเทศญี่ปุ่น หารือร่วมวิจัย ก่อนเสร็จสิ้นโครงการวิจัยโครงการแรกที่ทำร่วมกับ มข.

เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2557 Prof.Yoshinobu Ishibashi คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ Tohoku Gakuin Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยผลกระทบของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และถือโอกาสหารือการทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบน้ำประปาร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ การมาเยือนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ในการขยายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง Tohoku Gakuin University กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ 6th ICPH:GMS

เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด ผศ.ดร.สมศักดิ์     พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดประชุมวิชาการ 6th International Conference on Public Health among the Greater Mekong Sub-Regional Countries “Health Service system in a Borderless Community: Human Resource Development for a District Health System” ในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เด่นพงษ์  สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน ประกอบด้วยบุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิชาการ นักวิจัย ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากProf. Sir Richard Peto (Medical Statistics and Epidemiology, University of Oxford, UK) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก และได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล กรุณารับเป็น Key note Speech: Halving Premature Death

 

ผลจากการจัดประชุมในครั้งนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับประโยชน์ ดังนี้

            1) จะมีการทำ MOU ร่วมกับ KUNMING MEDICAL UNIVERSITY และแลกเปลี่ยนนักศึกษา

            2) มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียที่มาร่วมประชุมได้ทำ MOU กับคณะ และจะส่งนักศึกษามาเรียน รวมทั้งยินดี รับนักศึกษาแลกเปลี่ยน และเชิญอาจารย์ไปสอน

            3) Prof. sir Richard Peto ให้ความสนใจและยินดีให้การสนับสนุนเรื่องงานวิจัย ซึ่งจะได้ประสานในรายละเอียดต่อไป

            4) นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อประสานงานเรื่อง การเรียนการสอน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำวิจัยร่วมกัน ในประเด็นต่างๆของหลักสูตร และความสนใจเฉพาะตัวของอาจารย์แต่ละท่าน

            5) จะมีการจัดอบรม เกี่ยวกับ HIA ร่วมกับ สช.

            6) อาจารย์และนักศึกษา โดยเฉพาะบัณฑิตศึกษา ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ทั้งการนำเสนอ การเป็นพิธีกรเป็น chair ,co chair, staff ตามห้องต่างๆ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น

 

TGU ประเทศญี่ปุ่น จับมือ มข. วิจัยผลกระทบจากอุทกภัยในภาคอีสาน

Professor Yoshinobu Ishibashi จาก Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น เข้าหารือการลงนาม MOU กับอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Professor Yoshinobu Ishibashi จาก Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เพื่อเข้าหารือเรื่องการทำวิจัยร่วมกับคณาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ เรื่อง Effect of Flood on Water Quality and Health in the Northeast of Thailand ซึ่ง Tohoku Gukuin University จะจัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยขึ้น ในวันที่ 17 มีนาคม 2557 โดยได้เชิญอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว ณ Tohogu Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น
 
                  การวิจัยร่วมกันของสองสถาบัน ได้มีการประสานความร่วมมือกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดย Professor Yoshinobu Ishibashi ได้เดินทางมาเจรจาความร่วมมือและลงสำรวจพื้นที่การเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับคณะทำงานวิจัยในภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ จนกระทั่งได้ยื่นขออนุมัติงบประมาณจาก Tohoku Gukuin University และได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อทำวิจัย การเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าพบอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อหารือเรื่องการจัดพิธีลงนามความร่วมมือขึ้น ก่อนเริ่มเก็บข้อมูลในพื้นที่ในเดือน พฤษภาคม 2557
 
   
ข่าว: ผุสดี ไกยวงษ์
ภาพ: ขวัญหทัย สินเธาว์

 

มข. รุดหน้า แก้ปัญหามะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการติดตั้งและใช้งานระบบ CASCAP Tool นวัตกรรมเพื่อชาวอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี

ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางสุขภาพ เรียกว่า CASCAP Tools (CASCAP: Cholangiocarcinoma screening and care program) โดยมุ่งให้ได้ทั้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์สร้างองค์ความรู้ตามวัตถุประสงค์ และได้ระบบที่สามารถเชื่อมโยงกับการทำงานตามปกติของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ง่าย และเกิดประโยชน์ทั้งด้านการวิจัย และการดำเนินงานประจำ รวมทั้งการจัดการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน บังเกิดประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหามะเร็งท่อน้ำดีในคนอีสานต่อไปในระยะยาว มอบเป็นนวัตกรรมสำหรับชาวอีสาน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม และมี ผศ.นพ.ณรงค์ขันตีแก้ว ภาควิชาศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาของโครงการและกล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม
 
รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้ดำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ กล่าวว่า “CASCAP Tools ได้รับการพัฒนาเสร็จสิ้นเป็น Version ที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดให้มีการติดตั้งและใช้งานระบบ CASCAP ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งมอบ CASCAP Tools ให้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี แก่หน่วยบริการสาธารณสุข และเพื่อฝึกปฏิบัติใช้งานระบบดังกล่าว”
 
การอบรมในครั้งนี้ จัดเป็น 3 รุ่น  จาก 13 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วย 33 โรงพยาบาล 13 หน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) และ 222 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 262 คน สำหรับรุ่นที่หนึ่งคือวันที่ 6 มกราคม 2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 153 คน สำหรับรุ่นที่สองคือวันที่ 7 มกราคม 2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์และพยาบาล ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 74 คน และรุ่นที่สามคือวันที่ 8 มกราคม 2557 ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์และพยาบาล ผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 35 คน ทั้งนี้  ได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรจากโครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 โรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงมากที่สุดในประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยในระยะสุดท้าย ยังผลให้มีอัตรารอดชีพต่ำมาก โครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้รับการพัฒนาขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เป็นหนึ่งโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และดำเนินการภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นและให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกันในรูปเครือข่าย และบูรณการกับภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขอย่างแนบแน่น โดยดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสานต่องานอย่างยั่งยืนสืบไป 
 
ข่าว: ผุสดี ไกยวงษ์
ภาพ: ปิยพล จันทรา

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556 เพื่อส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันนักวิจัยในการผลิตผลงานวิชาการ และยกย่องชมเชยนักวิจัยดีเด่นที่สร้างชื่อเสียง

ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย รศ.ดร.วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์ ประธานกรรมการคัดเลือกนักวิจัยดีเด่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดโครงการเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2556 เพื่อส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันนักวิจัยในการผลิตผลงานวิชาการ และยกย่องชมเชยนักวิจัยดีเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ ในปีนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ผศ.ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดี ได้มอบรางวัลให้แก่นักวิจัยดีเด่น ในวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556  ในกิจกรรมวัน “Sport Day and Night Fancy สานสัมพันธ์ครอบครัวชาวสาธารณสุขศาสตร์”   โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1) นักวิจัยที่มีจำนวนบทความวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (citation) ในฐานข้อมูล Refereed Journal สูงสุด  ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.มาลินี  เหล่าไพบูลย์

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.บัณฑิต  ถิ่นคำรพ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.ภัทระ  แสนไชยสุริยา

2) นักวิจัยที่มีจำนวนบทความวิจัยที่เป็นชื่อแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูล ISI และ SCOPUS  ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.สุพรรณี  พรหมเทศ

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.จุฬาภรณ์  โสตะ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พอใจ  พัทธนิตย์ธรรม

                                  ดร.ศิริพร  คำสะอาด

                                  อ.เชษฐา  งามจรัส

3) นักวิจัยที่มีผลรวมค่า Impact factor-SJR สูงที่สุด ได้แก่

   ระดับศาสตราจารย์         ดร.มาลินี  เหล่าไพบูลย์

   ระดับรองศาสตราจารย์    ดร.บัณฑิต  ถิ่นคำรพ

   ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พอใจ  พัทธนิตย์ธรรม